Web for Absolute Reality - "นิพพานเป็นอัตตา" โง่หรือแกล้งโง่?2
  Home
  Contact
  Guestbook
  ปราบมารจริงหรือไม่จริง1/1
  วิชชาธรรมกายกับการสะกดจิต 1
  "นิพพานเป็นอัตตา" โง่หรือแกล้งโง่?1
  => "นิพพานเป็นอัตตา" โง่หรือแกล้งโง่?2
  => "นิพพานเป็นอัตตา" โง่หรือแกล้งโง่?3
  => "นิพพานเป็นอัตตา" โง่หรือแกล้งโง่?4
  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา1
  "อนัตตา" เข้าใจกันถูกต้องดีแล้วหรือ?1
  นิพพานกับความหมายตรงตัว1

มารยาทและเทคนิควิธีการของนักวิชาการที่มีคุณธรรมจริยธรรม

ก่อนที่จะอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างข้อความทั้ง 2 ข้อความนั้น ผู้เขียนขออธิบายมารยาทและเทคนิควิธีการของนักวิชาการที่มีคุณธรรมจริยธรรมเสียก่อน  ตามหลักวิชาการสมัยใหม่ที่กำลังใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้

ประการแรก

ในการศึกษากันทางสังคมศาสตร์แบบนี้  ถ้านักวิชาการท่านใด จะวิเคราะห์ข้อเขียนของผู้อื่น  เช่น นักวิชาการจะศึกษาเรื่องคำสอนของวิชชาธรรมกาย เป็นต้น   นักวิชาการท่านนั้นๆ ไม่ควรจะเอาความรู้ที่ติดตัวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาตะวันตก เข้ามาตัดสิน "คำสอนของวิชชาธรรมกาย" จะต้องศึกษาโดย "วงเล็บ" ความรู้ของตนเองไว้ก่อน 

หลักการที่ว่าในย่อหน้าที่ผ่านมานั้นเป็นของใคร?

ตอบได้เลยว่า เป็นหลักการของวิธีหาความรู้ความจริงหรือวิธีศึกษาวิจัยแบบปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) ของ ฮุสเซิร์ล (Husserl)

ถ้าจะมีคนถามว่า

วิธีศึกษาวิจัยแบบปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) มีความเป็นมาอย่างไร?

ผมก็จะขอตอบว่า

วิธีศึกษาวิจัยแบบปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) เป็นวิธีการที่ปรับปรุงมาจากวิธีการหาความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method)

การตอบคำถามดังกล่าว ผู้อ่านหลายๆ ท่านก็ยังไม่เข้าใจ  ซึ่งผู้เขียนขอยืนยันว่า ผู้อ่านมิได้เป็นคนด้อยปัญญาแต่อย่างใด  แต่การที่ไม่เคยเรียนวิชาดังกล่าวมาก่อน  ก็จึงไม่รู้เป็นธรรมดา  ผู้เขียนจะพยายามอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ที่สุดดังนี้

วิธีการหาความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) นี่ คนทั่วๆ ไปรู้จักกันว่า "การวิจัย"  ซึ่งอันที่จริงไม่ถูกต้องนัก เพราะวิธีวิจัยนั้นมันมีหลายอย่าง หลายแบบ หลากหลาย แต่ในยุคสมัยใหม่ (modern) ที่ผ่านมา [ปัจจุบันนี้ เราถือว่าเป็นยุคหลังสมัยใหม่ (post modern)] วิธีการหาความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) ดังสุดๆ

ที่ว่าดังสุดๆ ก็เพราะ การศึกษาวิทยาศาสตร์กายภาพนะครับ  เช่น นิวตัน (Newton)  ค้นพบว่า แสงเดินเป็นเส้นตรง พบแรงโน้มถ่วง เป็นต้น  แต่เวลาเอามาศึกษาสังคมศาสตร์ วิธีการความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) กลับสร้างปัญหาขึ้น

วิธีการความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) นี่ คุยโต้คุยโม้โอ้อวดว่า ในการศึกษาสิ่งใดๆ ก็ตาม  นักวิทยาศาสตร์หรือนักสังคมศาสตร์ที่เอาวิธีการความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) มาใช้เป็นเครื่องจะปลอดจากค่านิยม (value free) พูดง่ายๆ ให้เป็นภาษาชาวบ้านก็คือ นักวิทยาศาสตร์เวลาจะศึกษาสิ่งใดจะ "ไม่ลำเอียง" นั่นแหละ

แต่จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า  ในการศึกษาสิ่งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นใคร ทั้งนักวิทยาศาสตร์และ นักสังคมศาสตร์ที่เอาวิธีการความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) มาใช้ ไม่สามารถปลอดจากค่านิยม (value free) ได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า ทุกคนมี "ความลำเอียง" ติดตัวมาทั้งนั้น

อย่างเช่น คนที่วิจัยในทางแพทย์ ตัวเองก็ลำเอียงชอบแพทย์มาตั้งแต่แรกแล้ว ถึงเรียนมาทางนั้น  เวลาวิจัยก็รับเงินบริษัท  ดังนั้น จะมาคุยโม้ว่า ปลอดจากค่านิยม (value free) หรือไม่ลำเอียงได้อย่างไร

ประการสำคัญก็คือ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร หรือเขียนออกมา  ไม่มีงานวิจัยไหนหรอก พอวิจัยเสร็จแล้ว นักวิจัยบอกว่า ผมขอเก็บไว้ในใจได้ไหม  ไม่มี  ทำวิจัยเสร็จแล้วก็ต้องเขียนออกมา  ที่นี้ภาษานี่  มันรวมเอาความลำเอียงของคนเข้าไปด้วยแล้ว

ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น ดังนี้

ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า พุทธวิชาการส่วนมากเลย ที่เรียนสูงๆ มักจะปฏิเสธว่า นรก-สวรรค์ไม่มี  อย่างดีก็พูดอย่างกำกวมว่า สวรรค์ในอก นรกในใจ  ไม่กล้าฟันธงว่า นรก-สวรรค์มีจริงๆ  พวกนี้นี่แหละที่เป็นตัวอย่างของการศึกษาศาสนาพุทธอย่างลำเอียง 

ลำเอียงอย่างไง ก็เวลาศึกษาศาสนาพุทธ แต่เอาหลักการของเหตุผล จากวิทยาศาสตร์มั่ง ปรัชญาตะวันตกมั่งเข้ามาเป็นเกณฑ์ตัดสินคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นว่าเรื่องนรก-สวรรค์ไม่มีเหตุผลในมุมมองของวิทยาศาสตร์และปรัชญาตะวันตก จึงไม่กล้ายืนยัน ทั้งๆ ที่ในพระไตรปิฎกมีข้อความกล่าวถึงนรก-สวรรค์มากมาย  

อีตาฮุสเซิร์ลนี่แกรู้ปัญหาของวิธีการความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) ว่า มันลำเอียง ไม่ปลอดค่านิยม (value free) แกเลยคิดหลักการของปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) ขึ้นมา  แกบอกว่า อย่างงั้น ต่อไปนี้เวลาจะศึกษาสิ่งใด ให้วงเล็บความรู้ของตนเองที่มีอยู่ในตัวเสียก่อน  อย่าเอาไปพัวพันกับสิ่งที่กำลังศึกษาอยู่  ให้ศึกษาไปอย่างนั้นก่อน พูดง่ายๆ ให้เข้ากับบทความนี้ก็คือ เวลาศึกษาศาสนาพุทธ อย่าไปเอาวิทยาศาสตร์กับปรัชญาตะวันตกมาเป็นเครื่องมือตัดสิน เพราะ ทั้งวิทยาศาสตร์กับปรัชญาตะวันตกนั้น มันยังไม่พบความจริงแท้ (ultimate reality) มันก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นไม้บรรทัดหรือเป็นเกณฑ์ไปวัดองค์ความรู้อื่นๆ  

นั่นคือ มารยาทและเทคนิควิธีการของนักวิชาการที่มีคุณธรรมจริยธรรมประการแรก

แต่ขอเรียนย้ำไว้ก่อนว่า ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า วิธีการความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) ศึกษาอะไรไม่ได้เลย  วิธีการนี้หาความรู้ความจริงทางวิทศาสตร์กายภาพได้เป็นอย่างดี  แม้กระทั่งความรู้ในทางสังคมศาสตร์ก็ยังหาความรู้ความจริงได้มากมาย  แต่ที่ผ่านมา เมื่อเอาวิธีการความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) มาศึกษาศาสนา  โดยเฉพาะศาสนาพุทธ  ผลปรากฏว่า ผลการศึกษาไม่ถูกต้องตามความจริง เป็นผลการศึกษาที่บิดเบือน

จากการศึกษาและวิเคราะห์ของผู้เขียนเอง  ผลการศึกษาที่บิดเบือนดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากวิธีการความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method)  แต่เกิดจากการนำวิธีการนั้นมาใช้กันแบบผิดๆ  พูดง่ายๆ ก็คือ ในการศึกษาศาสนาพุทธของพุทธวิชาการ/นักปริยัติทั้งหลาย  ใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสม แล้วก็ยังใช้กันอย่างผิดๆ อีกด้วย  ซึ่งคงจะได้นำเสนอต่อไปในภายภาคหน้า แต่ยังไม่ใช่ในบทความชิ้นนี้

ประการที่สอง

ในการศึกษาหรือวิเคราะห์ "ภาษา" ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียนหรือคำสัมภาษณ์ หรือคำบรรยาย ฯลฯ  หลักสำคัญที่เป็นมารยาทและเทคนิควิธีการของนักวิชาการที่มีคุณธรรมจริยธรรมอีกประการหนึ่งก็คือ ต้องยึด "ความหมาย" ของคนเขียน/คนพูดเป็นหลัก  ไม่ใช่ไปเอาข้อเขียนของคนอื่นมา แล้วเปลี่ยนความหมาย ให้เป็นความหมายที่ตนเองต้องการ แล้วจึงศึกษาวิเคราะห์ อย่างนี้ มันไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการของปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology)  และประการที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ถูกต้องหลักการของทางภาษาศาสตร์ (Linguistics) อีกด้วย   ซึ่งจะส่งผลให้การวิเคราะห์หรือการศึกษาไม่เป็นความเป็นจริง (truth)  ตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา

โดยสรุปในช่วงนี้  ในการศึกษาวิเคราะห์ข้อความของวิชชาธรรมกายอย่างมีมารยาทและเทคนิควิธีการของนักวิชาการที่มีคุณธรรมจริยธรรมคือ

1) ต้องวงเล็บความรู้ "อื่น" ของผู้ศึกษาเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะความรู้ของวิทยาศาสตร์กายภาพและปรัชญาตะวันตก  เพราะถ้าไม่วงเล็บเอาไว้แล้ว จะทำให้ผลของการศึกษา "บิดเบือน/ผิดเพี้ยน" ไปจากความจริง (truth)  และ

ข้อที่ 2) ต้องยึดความหมายของเจ้าของข้อความเป็นหลัก ไม่ใช่นำมาแปลใหม่ตามแต่ใจตัว  นอกจากจะทำให้ ให้ผลของการศึกษา "บิดเบือน/ผิดเพี้ยน" ไปจากความจริง (truth) แล้ว ยังเป็นการขาดมารยาทและเทคนิควิธีการของนักวิชาการที่มีคุณธรรมจริยธรรมอีกด้วย

เมื่อ "รู้" และ "เข้าใจ" มารยาทและเทคนิควิธีการของนักวิชาการที่มีคุณธรรมจริยธรรมแล้ว ก็จะถึงคราววิเคราะห์ดังต่อไปนี้

Today, there have been 10 visitors (14 hits) on this page!
This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free