Web for Absolute Reality - นิพพานกับความหมายตรงตัว1
  Home
  Contact
  Guestbook
  ปราบมารจริงหรือไม่จริง1/1
  วิชชาธรรมกายกับการสะกดจิต 1
  "นิพพานเป็นอัตตา" โง่หรือแกล้งโง่?1
  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา1
  "อนัตตา" เข้าใจกันถูกต้องดีแล้วหรือ?1
  นิพพานกับความหมายตรงตัว1
  => นิพพานกับความหมายตรงตัว2
  => นิพพานกับความหมายตรงตัว3
  => นิพพานกับความหมายตรงตัว4

นิพพานกับความหมายตรงตัว (Denotative meaning)

 

ประเด็นในบทความนี้เกิดจาก ผู้เขียนอ่านพบข้อความหนึ่งในเว็บเกี่ยวกับธรรมะ  ซึ่งเขียนเกี่ยวกับนิพพาน  ข้อเขียนดังกล่าวนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจมาก  ที่กล่าวว่า น่าสนใจเพราะเป็นตัวอย่างถึงความเป็นตัวตนของพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งได้อย่างดี  หรืออาจจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ข้อเขียนดังกล่าว แสดงให้เห็นสภาพการณ์ของพุทธศาสนาส่วนหนึ่งได้อย่างดี  ผู้เขียนจึงนำมาเขียนเพื่อบอกเล่าสู่กันฟัง และเพื่อต้องการให้เกิดการถกเถียงเพื่อสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการต่อไป

ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างข้อเขียนดังกล่าวนั้น โดยไม่บอกว่าผู้เขียนข้อความดังกล่าวเป็นใคร และนำมาจากเว็บใด  เพราะ การเขียนครั้งนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ และผลจากการเขียนครั้งนี้ ตัวผู้เขียนข้อความดังกล่าวจะได้รับความเสียหาย เพราะไม่มีความรู้จริงในข้อเขียน คือ ไม่มีความรู้จริงเกี่ยวกับนิพพานเลย  นอกจากจะไม่มีความรู้จริงในข้อเขียนแล้ว อำนาจของโมหะอันมืดมิดของผู้เขียนดังกล่าว ทำให้ไปโจมตีผู้อื่นว่า มีปัญญาอ่อนด้อยกว่าตัวเองหรือ "โง่" กว่าตนเองอีกด้วย  

เหตุผลที่ไม่บอกว่า ผู้เขียนข้อความดังกล่าวเป็นใคร  และนำมาจากเว็บใดอีกประการหนึ่งก็คือ  แนวคิดดังกล่าวพบเห็นได้โดยทั่วไป  สามารถอ่านได้จากเว็บทั่วไปๆ หรือหนังสือทั่วๆ ผู้เขียนจึงขอยืมข้อความนั้น มาเป็นตัวอย่างเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ เท่านั้น  

อนึ่ง ข้อเขียนของผู้เขียนในบทความนี้ ใครจะ "ยืม" ไปเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ผู้เขียนก็ยินดี  หรือจะวิพากษ์วิจารณ์แล้ว นำมาลงในเว็บไซต์แห่งนี้ ก็ยิ่งดีใหญ่ เพราะจะทำให้เกิดความก้าวหน้าในวงวิชาการมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอตั้งชื่อสมมุติให้กับบุคคลดังกล่าวว่า นายพายุช้างสารเพื่อไม่ให้สำนวนภาษาในบทความนี้ วกวน สับสนปนเประหว่างตัวของผู้เขียนบทความนี้เอง กับตัวของผู้เขียนบทความดังกล่าว

ข้อความของนายพายุช้างสารที่เป็นประเด็นในการวิพากษ์วิจารณ์ในวันนี้ มีดังนี้

........................

ส่วนเรื่องอายตนนิพพานนั้น ผมก็ไม่ทราบว่าจะพยายามคิดให้เป็นปัญหาทำไม ในเมื่อมันก็ไม่ใช่ปัญหาเสียหน่อย  อายตนนิพพาน ตามรูปศัพท์ แปลว่า ดับอายตนะ ก็คือดับที่เหตุ ดับที่บ่อเกิดหรือดับที่แดนเกิดฯ  ถ้าคิดจะพยายามให้เป็นสถานที่ (แดนนิพพาน) ละก็ ย่อมแสดงว่า เป็นคนอ่อนภาษา  อ่านหนังสือไม่แตกฉานเสียมากกว่า อธิบายมามากแล้ว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเข้าใจได้ตามสมควร

........................

ข้อความดังกล่าวนั้น เป็นที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่งว่า นายพายุช้างสารแสดงอำนาจของความรู้ของตนเองซึ่งไม่ถูกต้อง และดูถูกผู้อื่นที่มีความเห็นไม่ตรงกันไปเสียสิ้น  ถึงกับกล้าตราหน้าผู้อื่นว่า "เป็นคนอ่อนภาษาอ่านหนังสือไม่แตกฉานเสียมากกว่า"   ผู้เขียนในฐานะที่ร่ำเรียนและมีอาชีพในด้านภาษาศาสตร์ (linguistics)  ขอยืนยันในเบื้องต้นนี้ก่อนว่า  นายพายุช้างสารนั่นเอง อ่านหนังสือไม่แตก อ่านหนังสือไม่มาก กล่าวคือ เลือกอ่านหนังสือของผู้ที่ตน "เชื่อ" ว่ามีความรู้จริง  และ "ลอก"  ความคิดของหนังสือดังกล่าว โดยไม่มีความคิดเป็นของตนเองเลย

หนังสือเล่มใดที่มีแนวความคิดของฝ่ายตรงข้าม นายพายุช้างสารกับผู้ที่มีแนวคิดไปในทำนองเดียวกัน ก็จะไม่สนใจที่จะอ่านเพื่อนำมาวิเคราะห์หรือศึกษาให้ความรู้แตกฉานเพิ่มพูนขึ้น  นอกจากนั้นแล้ว นายพายุช้างสารเป็นคนที่ไม่เข้าใจและไม่มีความรู้เกี่ยวกับนิพพานเลย และไม่มีความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์  (Linguistics) เลยแม้แต่น้อย

ถ้าจะกล่าวให้ตรงประเด็นลงไปเลยก็คือ  นายพายุช้างสารไม่ได้มีความรู้ในด้านภาษาไทยอย่างนักวิชาการเลย  มีความรู้ภาษาไทยดังเช่นคนทั่วๆ ไป ซึ่งใช้ภาษาไทยได้เพื่อการสื่อสารเท่านั้น และการสื่อสารของนายพายุช้างสารนั้น ผู้เขียนค่อนข้างแน่ใจว่า ไม่น่าจะประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

ที่กล่าวว่า นายพายุช้างสารไม่สนใจอ่านหรือรับฟังแนวคิดที่มีความตรงกันข้ามกับตัวเอง  มีหลักฐานเชิงประจักษ์ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในเว็บไซต์หนึ่งของไทย  เว็บไซต์ดังกล่าวนี้ ผู้ที่เป็นสมาชิกสามารถ โหวต (Vote) ให้มีการลบกระทู้ได้  ผู้ที่เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ที่ว่านี้ จะพบเห็นได้เป็นประจำว่า ถ้ามีความคิดเห็นในกระทู้ใด ไม่ตรงกับความคิดเห็นของกลุ่มของตนเอง  กูจะถูกแจ้งให้ลบกระทู้กันเป็นประจำ

โดยสรุปในเบื้องต้น ผู้เขียนขอยืนยันว่า นายพายุช้างสารดังกล่าวนั่นเองที่ไม่ได้มีความรู้อันถูกต้องเกี่ยวกับนิพพานเลย โดยผู้เขียนมีหลักฐานประกอบดังข้อความที่จะกล่าวต่อไป

 

นิพพานกับความหมายความหมายตรง (Denotative meaning)  

ความหมายของคำในภาษานั้น ในทางภาษาศาสตร์ (linguistics) มีประเด็นศึกษากันอย่างมากมาย  พูดกันอย่างสั้นๆ ก็คือ มีวิชาเรียนโดยเฉพาะ ชื่อวิชาอรรถศาสตร์ (Semantics) มีเรื่องที่จะต้องเรียนกันตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก  นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ประเด็นเรื่องความหมาย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่มาพูด/เขียนกันโดยไม่มีหลักวิชาการ

ความหมายเมื่อคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการสื่อสารสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ความหมายตรง (Denotative meaning) และความหมายโดยนัย/ความหมายแฝง/ความหมายนัยประหวัด Connotative meaning)

ผู้เขียนข้อยกตัวอย่างจากหนังสือชื่อ "ภาพรวมของการศึกษาสัทศาสตร์และภาษาศาสตร์" ของ ศาสตราจารย์ ดร. พิณทิพย์ ทวยเจริญ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 หน้า 362  ดังนี้

เด็กผู้ชายคนนี้เล่นตลก

ความหมายตรง (Denotative meaning) ของข้อความดังกล่าวก็คือ เด็กผู้ชายคนดังกล่าวมีอาชีพเล่นตลก จะพบเห็นได้ในวงตลกที่แสดงตามโทรทัศน์หรือแผ่นซีดี ที่สามารถดูได้เมื่อท่านขึ้นรถปรับอากาศ

ความหมายโดยนัย/ความหมายแฝง/ความหมายนัยประหวัด Connotative meaning) ของข้อความดังกล่าวก็คือ เด็กคนนั้น "ไม่ซื่อตรง" หรือ "โกหก" ความหมายประเภทนี้ ไม่ตายตัว ขึ้นกับสถานการณ์หรือบริบท (context)

จะเห็นได้ว่า ภาษานั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เมื่อสื่อสารกันออกไป ผู้ส่งสาร [ผู้พูด/ผู้เขียน] จึงมีอิสระที่จะใช้ความหมายให้ตรงกับความต้องการของตน  ผู้ที่อ่านแล้ว และต้องการจะนำไปใช้  ควรจะตระหนักไว้ให้ "หนัก" ว่า  ผู้เขียน/ผู้พูดมีความหมายเป็นประการใดแน่  นอกจากนั้นแล้ว  ต้องตรวจสอบอย่างระมัดระวังว่า  ผู้เขียน/ผู้พูดใช้ความหมายได้ถูกต้องตามหลักวิชาภาษาศาสตร์หรือไม่?

กลับมาที่ประเด็นปัญหาที่ต้องการถกเถียงกันในบทความนี้  ความหมายตรง (Denotative meaning) ของนิพพานนั้นไม่ได้แปลว่า "ดับ"  อย่างที่นายพายุช้างสารเข้าใจ  ความหมายตรง (Denotative meaning) ของนิพพานมีดังนี้คือ

พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญได้นำเสนอบทความในการเสวนาทางวิชาการ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 ณ ห้องประชุม 707 อาคารบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความหมายของนิพพานไว้ว่า

นิพพานประกอบด้วยศัพท์ นิ (ออกไป, หมดไป, ไม่มี) +วานะ (พัดไป, ร้อยรัด) รวมเข้าด้วยกันแปลว่า ไม่มีการพัดไป ไม่มีสิ่งร้อยรัด  คำว่า "วานะ" เป็นชื่อเรียกกิเลสตัณหา โดยสรุป นิพพานก็คือไม่มีกิเลสตัณหาที่จะร้อยรัดพัดกระพือให้กระวนกระวายใจ

สมเด็จพระญาณสังวรได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ "ธรรมดุษฎี" หน้า 98 ว่า

คำว่า นิพพานนี้ประกอบขึ้นด้วยศัพท์คือ นิ กับ วาน ภาษาบาลีหรือมคธว่านิพพาน ภาษสันสกฤตว่า นิรวาณ แปลว่า ออกจากวาน หรือไม่มีวาน คำว่า วาน นั้นอย่างหนึ่ง แปลว่าเครื่องเสียบแทง ใช้หมายถึงลูกศรก็มี อย่างหนึ่งแปลว่าเครื่องร้อยรัด ที่แปลว่าเครื่องเสียบแทงในที่นี้ก็คือเครื่องเสียบแทงจิตใจ ถ้าหมายถึงลูกศร ก็หมายถึงลูกศรที่เสียบแทงจิตใจไว้ ส่วนที่แปลว่าเครื่องร้อยรัด ก็หมายถึงเครื่องร้อยรัดจิตใจนี้เอง

โดยสรุป จะเห็นได้ว่า ความหมายของนิพพานที่เป็นความหมายตรง (Denotative meaning) แปลว่า ปราศจากเครื่องร้อยรัด หรือปราศจากเครื่องเสียดแทง

ในเมื่อ ความหมายของนิพพานที่เป็นความหมายตรง (Denotative meaning) แปลว่า ปราศจากเครื่องร้อยรัด หรือปราศจากเครื่องเสียดแทง  ดังนั้น จึงเป็นอันที่น่าสงสัยว่า ความหมายของนิพพานที่แปลว่า "ดับ"  มีความเป็นมาอย่างไร?

Today, there have been 1 visitors (3 hits) on this page!
This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free