Web for Absolute Reality - "อนัตตา" เข้าใจกันถูกต้องดีแล้วหรือ?1
  Home
  Contact
  Guestbook
  ปราบมารจริงหรือไม่จริง1/1
  วิชชาธรรมกายกับการสะกดจิต 1
  "นิพพานเป็นอัตตา" โง่หรือแกล้งโง่?1
  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา1
  "อนัตตา" เข้าใจกันถูกต้องดีแล้วหรือ?1
  => "อนัตตา" เข้าใจกันถูกต้องดีแล้วหรือ?2
  => "อนัตตา" เข้าใจกันถูกต้องดีแล้วหรือ?3
  นิพพานกับความหมายตรงตัว1

"อนัตตา" เข้าใจกันถูกต้องดีแล้วหรือ?

 

บทความนี้เขียนมาเพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ความหมายของอนัตตาในปัจจุบันนี้ พุทธศาสนิกชนบางกลุ่ม บางพวก บางหมู่เข้าใจผิดไปจากพระไตรปิฎกอย่างมาก......  อันที่จริงการเข้าใจผิดในหลักธรรมคำสอนอย่างนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ หรือจะกล่าวให้ชัดลงไป ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ก็ยังมีความเข้าใจผิดในคำสอนของพระองค์อยู่เสมอๆ

ความเข้าใจผิดเหล่าดังกล่าว ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไรในสมัยนั้น เพราะนอกจากพระพุทธองค์แล้วยังมีพระอรหันต์อื่นคอยแก้ไขสิ่งผิดๆ เหล่านั้น  แต่ในสมัยปัจจุบัน ดูเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากหรือเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เพราะ คนที่เข้าใจผิดหรือตีความพระไตรปิฎกผิดเพี้ยน  เป็นกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาสูงๆ ตามหลักวิชาการของทางตะวันตก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีความสามารถที่จะเขียนหรือเสนอความเข้าใจผิดเหล่านั้น ให้แพร่ขยายออกไป จนความเข้าใจผิดดังกล่าว กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับกลุ่มชนเหล่านั้นไปเสียแล้ว

ที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก  ข้อความ/ข้อเขียนที่ถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎกกลับถูกพุทธวิชาการที่มีความเข้าใจผิดเหล่านั้น ตราหน้าว่า "เป็นของผิด" เป็นของไม่ถูกต้องไปเสียสิ้น  ทั้งที่คำอธิบายของพุทธวิชาการที่มีความเข้าใจผิดเหล่านั้นไม่มีหลักการทางวิชาการอย่างใด

ผู้เขียนจึงต้องการที่จะเสนอบทความนี้ เพื่อกระตุกหรือกระตุ้นเตือนให้หมู่ชนเหล่านั้น เข้าใจความหมายของคำว่า "อนัตตา"  ให้ถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  หลักการที่ผู้เขียนจะนำมาวิเคราะห์ก็จะเป็นหลักการของภาษาศาสตร์ (Linguistics) ซึ่งเป็นวิชาชีพของผู้เขียนที่ทำมาหากินอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อแรกๆ ที่ผู้เขียนหันมาสนใจด้านปริยัติซึ่งเป็นศาสนาพุทธในด้านวิชาการ  ผู้เขียนคิดว่า นักปริยัติ/พุทธวิชาการที่มีผลงานวิชาการออกมากันสม่ำเสมอบ้าง ไม่สม่ำเสมอบ้าง เป็นบุคคลที่ "เก่ง" เสียเหลือเกิน  ทำไมถึงเกิดมาเก่งอย่างนี้ โดยธรรมชาติของผู้เขียนแล้ว (ข้อความนี้ พยายามทำให้สุภาพเข้าไว้ ถ้าเป็นสำนวนภาษาชาวบ้านก็ว่า โดยสันดานของผู้แล้ว)  มักจะยอมรับนับถือคนเก่งอยู่เสมอ โดยเฉพาะคนที่เขียนหนังสือออกมาเป็นเรื่องเป็นราวได้

ที่กล่าวว่า เมื่อแรกที่ผู้เขียนหันมาสนใจด้านปริยัติ ก็เพราะว่าก่อนหน้านี้ ผู้เขียนสนใจแต่เรื่องปฏิบัติธรรมอย่างเดียว  หนังสือพระที่อ่านก็ต้องเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระปฏิบัติธรรม  พูดให้เข้าง่ายๆ ก็คือ ผู้เขียนอ่านหนังสือของสายปฏิบัติธรรมเท่านั้น สายยุบหนอพองหนอ สายพุทโธ สายนะมะพะทะ และสายวิชชาธรรมกาย ผู้เขียนอ่านมาแล้วอย่างช่ำชองทะลุปรุโปร่ง  ในช่วงนั้นหนังสือที่เกี่ยวกับปริยัติไม่เคยแตะเลย ไม่ชอบอ่าน

เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองที่ผู้เขียนเริ่มมาจับหนังสือของกลุ่มพุทธวิชาการ  เมื่ออ่านมากๆ เข้า ความนับถือในตัวของพุทธวิชาการก็ลดลงไปเรื่อยๆ  จนกระทั่งปัจจุบันความนับถือแทบจะไม่เหลืออยู่เลย เพราะ ผลงานวิชาการของพุทธวิชาการจำนวนมาก ไม่ถูกต้องตรงตามความจริง แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ เรื่องหญ้าปากคอกที่จะกล่าวถึงในบทความนี้

พุทธวิชาการเหล่านั้น ศึกษาศาสนาพุทธอย่างลำเอียง อย่างมีอคติ เอาวิชาความรู้ขององค์ความรู้อื่น มาปะปนกับศาสนา  องค์ความรู้ที่ว่านั้นก็คือ วิทยาศาสตร์เก่า ซึ่งปัจจุบัน นักวิชาการทางตะวันตกโดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ เขาไม่ใช้กันแล้ว รวมถึงปรัชญาตะวันตก ซึ่งนักปรัชญาตะวันตกเองออกมายอมรับว่า ปรัชญาตะวันตกหาความจริงแท้ (Absolute reality) ไม่ได้แน่ๆ  แต่พุทธวิชาการเหล่านั้นกลับเอาวิทยาศาสตร์เก่ากับปรัชญามาเป็นเครื่องมือตัดสินคำสอนของศาสนาพุทธ   จนกระทั่งวงการศาสนาและประเทศชาติวุ่นวายไปหมด  ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ท่านทางยืนยันว่า คำสั่งสอนของพระองค์นั้นเป็นความจริงแท้ (Absolute reality) แล้ว

เมื่อสังคมเกิดปัญหาขึ้น เพราะการตีความของพุทธวิชาการเหล่านี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ว่า พุทธวิชาการเหล่านี้แหละที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่านรก-สวรรค์มีจริงๆ  บุคคลที่หลงเชื่อไปตามการตีความของพุทธวิชาการกลุ่มนี้  เมื่อมีโอกาสเป็นใหญ่เป็นโต มีอำนาจวาสนาในทางการเมืองและทางราชการ ก็โกงกินประเทศชาติกันอย่างมหาศาล ก็เพราะมีพุทธวิชาการไปสอนว่า นรก-สวรรค์ไม่มีจริงๆ นี่แหละ

พอเกิดปัญหาขึ้นอย่างนั้น พุทธวิชากรเหล่านี้ก็ไปโทษว่า เกิดจากระบบทุนนิยม เกิดจากการโฆษณาอย่างเป็นบ้าเป็นหลังอะไรไปโน่น  ตัวเองเป็นตัวทำลาย "ความเชื่อ" ที่ถูกต้องของคนไทยไป ยังไม่ยอมรับอีก และสิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตก็คือ พุทธวิชาการกลุ่มนี้ทำไปเพื่อความมีหน้ามีตาในทางสังคมเท่านั้น ไม่ได้มีความหวังดีต่อศาสนาอย่างจริงจัง  เรียกว่า เอาศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความโด่งดังให้กับตนเอง เพื่อเป็นหนทางที่จะทำมาหากิน เท่านั้น

สิ่งที่น่าครุ่นคิดประการหนึ่งก็คือ การที่พุทธวิชาการ เที่ยวไปเอาวิทยาศาสตร์บ้าง ปรัชญาบ้างเข้ามาวิเคราะห์ศาสนาพุทธ และการตีความของบุคคลเหล่านั้น ทำให้ศาสนาพุทธในความเชื่อของบุคคลบางกลุ่ม ที่ลุ่มหลงในวิทยาการตะวันตกบิดเบือนไปจากความถูกต้องตามพระไตรปิฎก การกระทำดังกล่าวนี้เป็น "สัทธรรมปฏิรูป" หรือไม่ น่าตั้งประเด็นสงสัยกันไว้ 

ประเด็นที่ว่าเรื่องง่ายๆ เรื่องหญ้าปากคอกที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ของผู้เขียนก็คือ ความหมายของคำว่า "อนัตตา" 

คำว่า "อนัตตา" นี้  ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าศึกษาศาสนากันอย่างซื่อๆ ตรงๆ ความหมายไม่ได้ลึกลับซับซ้อนหรือยากเย็นอะไรเลย  ง่ายที่สุด แต่ความหมายที่พุทธวิชาการ "ชอบ" ตีความกันไปนั้น เพราะไม่ได้ศึกษาศาสนาอย่างซื่อตรงอย่างมีหลักวิชาการ

แต่เป็นการศึกษาเพื่อ "ตีความ" ให้เข้ากับความเชื่อของตนเอง ที่ไปเชื่อวิทยาศาสตร์เก่ากับปรัชญาตะวันตก  ของง่ายๆ ตรงๆ ตีความแล้วไม่ตรงกับความพอใจของตนเอง ก็ตีความใหม่โดยไม่มีหลักวิชาการใดๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการทางภาษาศาสตร์ (Linguistics)   

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะวิเคราะห์ความหมายของคำว่า "อนัตตา" โดยใช้หลักการของภาษาศาสตร์ (Linguistics) และจะใช้อนัตตลักขณสูตรเป็นหลัก เพราะ เป็นพระสูตรแรกที่กล่าวถึงคำว่า "อนัตตา" ชื่อของพระสูตรก็บอกไว้อย่างชัดเจน ถ้าแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็น่าจะแปลว่า พระสูตรเกี่ยวกับลักษณะของอนัตตา

ตรงนี้ต้องขอบอกไว้ก่อนสำหรับคนที่ชอบประเด็นถกเถียงกันเรื่องอัตตา-อนัตตาว่า  ถ้าหนังสือเล่มไหน หรือบทความไหนเขียนถึง "อนัตตา"  แต่ไม่อ้างถึง "อนัตตลักขณสูตร" ท่านผู้อ่านคาดคะเนได้เลยว่า "มีเจตนา" ที่ต้องการจะบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นไปตามความคิด/ความเชื่อของตนเอง

ก็พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง "พระสูตรเกี่ยวกับลักษณะของอนัตตา" ไว้ เป็นพระสูตรที่สอง  เป็นพระสูตรที่ตรัสสอนเสร็จแล้ว มีพระอรหันต์เกิดขึ้นอีก 5 รูป  มาถึงชั้นนี้ช่วงเวลานี้ เวลาจะพูด/เขียนเกี่ยวกับ "อนัตตา" ไม่เอาอนัตตลักขณสูตรมาร่วมวิเคราะห์ด้วย มันก็แสดงให้เห็นเจตนาที่ต้องการบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างชัดแจ้งที่สุด  แต่พูดอย่างเป็นกลางว่า พุทธวิชาการเหล่านั้นอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็เป็นได้

นี่ว่ากันตามหลักการ ไม่ได้มีเจตนาจะกระทบใครเลยนะ....จะบอกให้...

ก่อนอื่น ขอเล่าความเป็นมาของพระสูตรนี้เพื่อปูทางความเข้าใจเบื้องตนเสียก่อน

อนัตตลักขณสูตรเป็นพระสูตรที่สองที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระเบญจวัคคีย์ พอตรัสสอนพระสูตรนี้แล้ว พระเบญจวัคคีย์บรรลุพระอรหันต์กันหมดเลย  พอจบพระสูตรจึงมีข้อความว่า "ครั้งนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก 6 องค์" ซึ่งนับรวมพระพุทธเจ้าเข้าไปด้วย

ถ้านับความสำคัญจริงๆ ระหว่างพระสูตรแรกคือ ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร กับอนัตตลักขณสูตร ธัมมจักรกัปปวัตนสูตรมีความสำคัญกว่าเยอะ เพราะเป็นพระสูตรหัวใจหลักของศาสนาเลยทีเดียว  ธัมมจักรกัปปวัตนสูตรนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องทางสายกลาง มรรคมีองค์ 8 อริยสัจ 4

บางคนอาจจะสงสัยว่า ธัมมจักรกัปปวัตนสูตรมีความสำคัญกว่าอนัตตลักขณสูตร เป็นพระสูตรหัวใจของศาสนาพุทธเลย ทำไมเบญจวัคคีย์จึงไม่บรรลุพระอรหันต์ แต่มาบรรลุด้วยอนัตตลักขณสูตร

ผู้เขียนก็ลองทิ้งไว้ให้ผู้อ่านคิดเป็นการบ้านก่อน วันหลังจะมาเปิดเผย  แต่วันนี้ขออธิบายลงลึกในอนัตตลักขณสูตรต่อไป

Today, there have been 1 visitors (2 hits) on this page!
This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free