Web for Absolute Reality - วิชชาธรรมกายกับการสะกดจิต 1
  Home
  Contact
  Guestbook
  ปราบมารจริงหรือไม่จริง1/1
  วิชชาธรรมกายกับการสะกดจิต 1
  => วิชชาธรรมกายกับการสะกดจิต 2
  => วิชชาธรรมกายกับการสะกดจิต 3
  => วิชชาธรรมกายกับการสะกดจิต 4
  "นิพพานเป็นอัตตา" โง่หรือแกล้งโง่?1
  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา1
  "อนัตตา" เข้าใจกันถูกต้องดีแล้วหรือ?1
  นิพพานกับความหมายตรงตัว1

การสอนวิชชาธรรมกายของคณะศิษย์คุณลุงการุณย์ บุญมานุชกับการสะกดจิต?

 

ในฐานะที่เป็นวิทยากรคนหนึ่ง  การสอนของผู้เขียนก็ถูกกล่าวหาจากผู้ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวิชชาธรรมกายว่าเป็นการสะกดจิตเช่นเดียวกัน   ผู้กล่าวหาบางคนนั้น เป็นครูในโรงเรียนที่ผู้เขียนเข้าไปสอนปฏิบัติธรรมเสียด้วย  การสะกดจิตจึงเป็นประเด็นที่จะนำเสนอและถกเถียงกันในวันนี้  โดยผู้เขียนจะสมมุติให้ข้อสงสัย ซึ่งในบางกรณีแล้ว เป็นการโจมตีวิชชาธรรมกายด้วย ให้เป็นข้อกล่าวหาว่า "การสอนวิชชาธรรมกายของคณะศิษย์คุณลุงการุณย์ บุญมานุชเป็นการสะกดจิต" แล้วจึงจะนำเสนอข้อโต้เถียงอย่างเป็นหลักวิชาการทั้งในหลักการทางภาษาศาสตร์ และตรรกวิทยา ทั้งนี้รวมถึงพุทธศาสตร์ในฐานะเป็นประเด็นหลักหรือเป็นเนื้อหาของการถกเถียงอยู่แล้ว

ข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้น มีเรื่องที่จะต้องตั้งข้อสังเกตหรือตั้งข้อสงสัยเอากับตัวคำถามหรือตัวข้อกล่าวหาเสียก่อน  เพราะ คำถามหรือข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้น ซ่อนประเด็นหรือความหมายอื่นๆไว้อยู่จำนวนหนึ่ง  กล่าวคือ ในการสื่อสารแต่ละครั้งนั้น ภาษาของผู้ส่งสารไม่ได้มีเพียง ความหมาย ที่ตีความได้จากประโยคเท่านั้น ซึ่งในทางภาษาศาสตร์มีศัพท์เรียกความหมายที่ซ่อนหรืออยู่กับประโยค/ข้อความเหล่านั้นว่า สมมุติฐานล่วงหน้า (Presupposition)

ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจดังนี้

มีครอบครัวหนึ่งมีลูก 2 คน ชื่อ ด.ช. ดุสิต กับ ด.ช. สมัคร  เด็กทั้งคู่นี้ พูดจาไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอยนัก ชอบโกหกพกลมเป็นประจำ วันหนึ่งเงินในกระเป๋าสตางค์ของแม่ของเด็กทั้งสองหายไป  เธอจึงเรียกเด็กทั้งสองเข้ามาสอบสวนที่ละคน  ในกรณีที่เป็น ด.ช. ดุสิต เธอตั้งคำถามว่า

"ดุสิต หนูเอาสตางค์ในกระเป๋าแม่ไปหรือปล่าว"

เมื่อเธอสอบสวน ด.ช. สมัคร เธอตั้งคำถามว่า

"สมัคร หนูเอาสตางค์ในกระเป๋าแม่ไปใช่ไหม"

ขอให้ผู้อ่านลองพิจารณาข้อความทั้ง 2 ข้อความนี้อย่างพินิจพิเคราะห์

"เอาสตางค์ในกระเป๋าแม่ไปหรือปล่าว"

"เอาสตางค์ในกระเป๋าแม่ไปใช่ไหม"

ประโยคที่ลงท้ายด้วย "หรือปล่าว" นั้น แสดงให้เห็นว่า คุณแม่มีสมมุติฐานล่วงหน้า (Presupposition) ว่า คนขโมยไม่น่าจะใช่ ด.ช. ดุสิต หรือพูดให้ง่ายๆ ว่า ตามความเห็นของคุณแม่แล้ว ด.ช. ดุสิตน่าจะมีโอกาสขโมยเงินในครั้งนี้ หรือมีโอกาสเป็นขโมยตั้งแต่ 40 % ลงมา

สำหรับ ด.ช. สมัครที่คำถามของคุณแม่ลงท้ายว่า "ใช่ไหม" นั้น  คุณแม่ค่อนข้างจะมั่นใจว่าเป็นคนขโมยเงินแน่ๆ ตั้งแต่ 80 % ขึ้นไป  ดีไม่ดี ในขณะที่กำลังถามนั้น อาจจะเงื้อไม้เรียวไว้แล้วก็ได้

ดังนั้น เมื่อพบกับข้อกล่าวหา/คำถามในลักษณะนี้ ก็ควรจะมีการตั้งข้อสังเกตกับข้อกล่าวหา/คำถามเหล่านั้นเสียก่อน ซึ่งในการกระทำดังกล่าวนั้น ก็ เป็นไปตามหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติอยู่ และเป็นหลักการตามหลักวิชาตรรกวิทยาอีกด้วย  ดังนี้

หลักการตามหลักพุทธศาสตร์

พระพุทธเจ้านั้น เมื่อมีบุคคลมาตั้งข้อซักถามพระองค์ ในหลายๆ ครั้งพระองค์ต้องถามกลับเพื่อสอบถามถึงความหมาย หรือในบางครั้งก็ถามกลับ จนผู้ถามหน้าหงายกลับไป เพราะ คำถามนั้น เป็นคำถามที่ไม่ถูกต้อง [ในส่วนนี้จะมีหลักฐานอ้างอิงเพิ่มเติมภายหลัง]

หลักการตามหลักวิชาตรรกวิทยา

ในทางวิชาตรรกวิทยานั้น  ส่วนใหญ่หนังสือตำรับตำรามักจะมุ่งเน้นไปที่ "ข้อโต้แย้งหรือคำตอบว่า สมเหตุสมผลหรือไม่  ถ้าไม่สมเหตุสมผลก็จะตัดสินว่าเป็นเหตุผลวิบัติ (fallacy) ซึ่งก็หมายความว่า ข้อเขียน/คำตอบ/ข้อโต้แย้งเหล่านั้น นำมาใช้เป็นหลักฐานทางวิชาการไม่ได้ 

ตัวอย่างที่ 1

หลายปีมาแล้ว  มีผู้สื่อข่าวไปพบว่า มีเด็กนักเรียนชั้น ป. 6 คนหนึ่งอ่านหนังสือไม่ออก ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์การสอนหนังสือของครูระดับประถมต่างๆ นานา เป็นระยะเวลาเป็นเดือน  จนกระทั่งมีคนออกมาเตือนว่า  การที่พบว่า มีนักเรียนชั้น ป. 6  อ่านหนังสือไม่ออกเพียงคนเดียว ไม่ได้หมายความว่า  การสอนของครูประถมใช้ไม่ได้ทั้งหมด  เพราะ เด็ก ป. 6 ในแต่ละปี ไม่ได้มีเพียงคนเดียว แต่มีเป็นแสนๆ  คน 

ลักษณะเช่นนี้ในทางตรรกวิทยากล่าวว่า เป็นเหตุผลวิบัติ (fallacy) ประเภทด่วนสรุป ด้วยข้อมูลที่มีน้อยเกินไป

ตัวอย่างที่ 2

หลายปีมาแล้ว  มีพจนานุกรม (dictionary) ที่เป็นภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง ให้คำจำกัดความของกรุงเทพฯ ไว้ว่า "เมืองแห่งโสเภณี"  กรณีนี้ ประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ  ลุกขึ้นมาต่อสู้และประท้วงให้พจนานุกรม (dictionary) ฉบับดังกล่าว เปลี่ยนคำจำกัดความเสียใหม่  ซึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความไปแล้ว

ในกรณีนี้ ก็เข้าข่าย เหตุผลวิบัติ (fallacy) ประเภทด่วนสรุป ด้วยข้อมูลที่มีน้อยเกินไปเช่นเดียวกัน เพราะ กรุงเทพฯ มีโสเภณี/หญิงอาชีพพิเศษมากเหมือนกัน  แต่มิได้หมายความว่า ผู้หญิงไทยในกรุงเทพฯ เป็นโสเภณีกันไปทั้งหมด

ตัวอย่างทั้งสองตัวอย่างนั้น แสดงให้เห็นถึง เหตุผลวิบัติที่เกิดจากข้อความบรรยาย ซึ่งเป็น "คำตอบ" จากคำถามซึ่งอยู่ในใจของผู้เขียน  แต่ในอันที่จริงแล้ว  ตัวคำถามเองก็อาจจะเป็นเหตุผลวิบัติ (fallacy) ก็ได้

ตัวอย่าง

คุณเลิกตีเมียหรือยัง?

ตัวอย่างข้างต้นนั้น เป็นตัวอย่างคลาสสิก (classic) เมื่อต้องการจะอธิบายถึงเหตุผลวิบัติ (fallacy) ของคำถาม/ข้อกล่าวหา

เมื่อพิจารณาเฉพาะโครงสร้างของประโยค  คำถามดังกล่าวเป็นคำถามที่ให้เลือกตอบว่า จะยอมรับหรือปฏิเสธ และผู้ตั้งคำถามมีสมมุติฐานล่วงหน้า (Presupposition) ว่า ผู้ถูกถามนั้นต้องมีอดีตในการตบตีเมียประกอบอาหารเช้าและอาหารเย็นเป็นประจำ  จึงได้ตั้งคำถามเอาเช่นนั้น

ในกรณีนี้ ไม่ว่าผู้ถูกถามจะ "ยอมรับ" หรือ "ปฏิเสธ" ก็ซวยทั้งคู่ ถ้ามีการถามดังกล่าวในสื่อสาธารณะเช่น การสัมภาษณ์โดยผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ เป็นต้น 

ยิ่งในกรณีที่ ผู้ถูกถามไม่เคยมีพฤติกรรมดังกล่าวมาก่อน แค่ถูกถามในที่สาธารณะ โดยไม่ต้องตอบ เพราะ ตอบไม่ได้เนื่องจากไม่เคยตบตีเมียมาก่อน เคยเฉพาะถูกภรรยาตบตีเอาเท่านั้น ก็จะต้องเสียชื่อเสียงไปอีกนาน  เพียงแค่ถูกถามเท่านั้น

ดังนั้น ในทางตรรกวิทยา คำถามบางคำถาม จึงต้องมีการตรวจสอบหรือตั้งข้อสังเกต หรือตั้งคำถามเอากับคำเหล่านั้นเสียก่อน  แล้วจึงค่อยตอบออกไป

กลับมาเข้าเรื่องในประเด็นของบทความนี้

ประการแรก ผู้ที่ตั้งข้อสงสัยหรือผู้ที่กล่าวหานั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการสะกดจิตหรือไม่?

เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญมากในหลักการทางตรรกวิทยา (logic)  หรือระบบเหตุผล (Rationality)  ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างก่อน แล้วจึงจะอธิบายลงลึกในหลักวิชาการต่อไป

ถ้าผู้อ่านสนใจติดตามข่าวสารทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจจะเห็นว่า เมื่อมีประเด็นทางการเมืองที่เป็นที่สนใจของประชาชน  ก็จะมีรายการวิทยุหรือโทรทัศน์เชิญผู้เชี่ยวชาญทางการเมือง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาจารย์ทางรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มาให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ และแนวคิดต่างๆ 

ถ้าเป็นประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ ก็จะเชิญผู้เชี่ยวชาญที่จบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันในวงวิชาการเป็นผู้มาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะตลอดจนแนวคิดต่างๆ เช่นเดียวกัน

ที่กระทำกันเช่นนั้นก็เพราะว่า การให้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญนั้น จะถูกต้องตรงความเป็นจริงมากกว่าผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่มีความรู้อย่างงูๆ ปลาๆ

จากตัวอย่างดังกล่าว  จึงควรตั้งข้อสงสัยเสียก่อนว่า คนที่ตั้งข้อกล่าวหาว่า "การสอนวิชชาธรรมกายของคณะศิษย์คุณลุงการุณย์ บุญมานุชเป็นการสะกดจิต" นั้น มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง "การสะกดจิต" ดีหรือไม่?  เพราะองค์ความรู้ (body of knowledge) เรื่องการสะกดจิตในสังคมไทยนั้น มีน้อยมาก  คนไทยได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการสะกดจิตจาก "ข่าวลือ" หรือจากภาพยนตร์มากกว่าที่จะ "พบ" หรือ "เห็น" การสะกดจิตด้วยตนเอง  

อีกประเด็นหนึ่งเมื่อพยายามจะสืบหาองค์ความรู้เรื่องสะกดจิตทั้งในหนังสือและเว็บไซต์ก็พบว่ามีจำนวนน้อยมาก  จนกระทั่งสามารถกล่าวได้ว่า วิชาสะกดจิตกับคนไทยนั้น เป็นวิชาลึกลับ พอๆ กับวิชาไสยศาสตร์นั่นเลยทีเดียว

ประการที่สอง ผู้ที่ตั้งข้อสงสัยหรือผู้ที่กล่าวหานั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมหรือไม่?

ประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกันกับประเด็นที่ผ่านมา คือ ถ้าผู้ตั้งข้อกล่าวหา ไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการสะกดจิต และไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการปฏิบัติธรรม  น้ำหนักของการตั้งข้อสงสัยนั้น ก็จะ "เบา" กล่าวคือ ไม่มีน้ำหนักในทางวิชาการหรือ ไม่น่าเชื่อถือในทางวิชาการ

เฉพาะในการปฏิบัติธรรมนั้น ในประเทศไทยก็มีหลากหลายสาขา แต่ละสาขาเมื่ออาจารย์คนแรกเสียชีวิตไปแล้ว ลูกศิษย์ทั้งหลายก็ยังไม่การแตกแยกสาขาออกไปอีก  ดังนั้น  แม้กระทั่งในสายปฏิบัติธรรมเดียวกัน  ในรุ่นลูกศิษย์ หลานศิษย์  ความขัดแย้งการปฏิบัติธรรมยังมีขึ้น   ดังนั้น มิต้องพูดถึงเลยว่า เมื่อมีการปฏิบัติธรรมคนละสาย คนละแนว  ผู้วิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น จะแน่ใจได้อย่างไรว่า  ความรู้ของผู้ถูกวิจารณ์กับความรู้ของผู้วิจารณ์จะสอดคล้องกัน

ในความคิดของผู้เขียนแล้ว จากที่ได้ทดลองการปฏิบัติธรรมมาหลายสำนัก เป็นเวลานับสิบปี  เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมมีปัญหาในการปฏิบัติครูบาอาจารย์สายปฏิบัติยังไม่นิยมให้คุยกันเอง หรือปรึกษากันเองเลย  ต้องมีปรึกษากับอาจารย์เท่านั้น  ดังนั้น  ในเรื่องปฏิบัติธรรมนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ข้ามสาขาปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องที่ต้องใคร่ครวญและระมัดระวังอย่างสูง 
Today, there have been 3 visitors (7 hits) on this page!
This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free