Web for Absolute Reality - ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา1
  Home
  Contact
  Guestbook
  ปราบมารจริงหรือไม่จริง1/1
  วิชชาธรรมกายกับการสะกดจิต 1
  "นิพพานเป็นอัตตา" โง่หรือแกล้งโง่?1
  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา1
  => ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา2
  => ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา3
  => ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา4
  "อนัตตา" เข้าใจกันถูกต้องดีแล้วหรือ?1
  นิพพานกับความหมายตรงตัว1

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา

 

บทนำ

บทความนี้ เกิดจากการที่ผู้เขียนเข้าไปอ่านการถกเถียงกันเกี่ยวกับธรรมะในเว็บแห่งหนึ่ง แล้วพบว่า มีกระทู้ที่น่าสนใจที่ควรจะนำวิพากษ์วิจารณ์ให้รู้กันโดยทั่วไป  เนื่องจาก การแสดงความเห็นของทั้งผู้ตั้งกระทู้และผู้ตอบกระทู้นั้น แสดงถึงความไม่รู้และไม่เข้าใจในพุทธพจน์ดังกล่าว  จึงนำมาเสนอเพื่อให้เป็นแนวทางที่ถูกต้องสำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

ข้อความที่ถกเถียงกัน จนผู้เขียนต้องนำมาเป็นประเด็นในการเขียนครั้งนี้ เกิดจากที่ มีผู้ตั้งกระทู้เกี่ยวกับข้อความในพุทธพจน์ที่ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" และตั้งคำถามเป็นเชิงข้อความเห็นจากผู้อ่านทั้งหลายว่า คำว่า "ธรรม" ในพุทธพจน์นั้น เป็นนิพพานใช่หรือไม่? ซึ่งผู้ตั้งกระทู้สันนิษฐานว่า ต้องใช่อย่างแน่นอน เพราะไม่อย่างนั้น จะเห็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร?

ผู้ตั้งกระทู้ยังถามไปยังประเด็นอื่นๆ อีก  แต่ผู้เขียนเห็นว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นที่จะนำเสนอกันในวันนี้ จึงมิได้นำมาเสนอไว้

ต่อมามีผู้มาตอบกระทู้ถามดังกล่าวว่า

 

ถ้าจะตีความในอีกลักษณะหนึ่งก็เรียกได้ว่า

เห็น = การแจ้งในสิ่ง ๆ นั้น

พุทธะ = ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

การเห็นตถาคตก็คือเห็นพุทธะ

การเห็นพุทธะ ก็คือการแจ้งในสัจธรรม เป็นการเข้าสู่การตื่น เป็นผู้รู้ และเบิกบาน

สิ่งเหล่านี้ก็คือลักษณะเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย  สุดท้ายก็คือนิพพานนั่นเอง

 

กระทู้ตอบดังกล่าวนั้น มีผู้ที่มีความคิด/ความเชื่อไปในทำนองเดียวกัน แสดงความนิยมชมชอบเป็นอย่างยิ่ง  ถึงกับยกยอผู้ตอบกระทู้ว่า เป็นผู้ฉลาดล้ำเกินมนุษย์ปกติทั่วๆ ไป   ผู้ตอบกระทู้ตอบรับคำสรรเสริญเยินยอดังกล่าว ด้วยข้อความพยายามถ่อมตัว โดยตอบว่า เป็นการแปลตามตัวอักษร  แต่ก็มาย้ำเพื่อแสดงนัยยะถึงความเก่งกล้าของตนเองที่มีมากกว่าบุคคลอื่นๆ ว่า "ผมชอบอะไรที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่าย"

ประเด็นที่ผู้เขียนจะนำเสนอในบทความนี้ก็คือ  ผู้เขียนเห็นว่า ทั้งผู้ตั้งกระทู้และผู้ตอบกระทู้ดังกล่าว ไม่มีความรู้ความเข้าใจในข้อความที่ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต" เท่าใดนัก  ในกรณีของผู้ตั้งกระทู้  ผู้ไม่เขียนไม่ติดใจอะไรมากนั้น เพราะ "ไม่รู้" จึงมาถาม  แต่ผู้เขียนติดใจ ผู้ตอบกระทู้และลิ่วล้อทั้งหลายว่า  เมื่อตนเองไม่รู้อะไรมากนัก ทำไมจึงแสดงความอหังการ์ ด้วยการแสดงความเห็นที่ไม่ถูกต้องและไม่ตรงประเด็นลงไปในที่สาธารณะเช่นนี้

 

วักกลิสูตรว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า

พุทธพจน์ที่มีความหมายดังกล่าวนั้น ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหลายแห่ง  แต่เท่าที่รู้จักกันทั่วไป เป็นข้อความในวักกลิสูตร ซึ่งอยู่ในพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค  โดยมีความเป็นมาดังนี้

ก่อนที่จะตรัสข้อความดังกล่าว พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้พระนครราชคฤห์  ในช่วงนั้นพระวักกลิอาพาธแต่อยากจะเข้าเผ้าพระพุทธเจ้าเพื่อต้องการเห็นพระวรกายของพระพุทธองค์  เมื่ออาพาธไปด้วยตนเองไม่ได้ จึงขอให้พระรูปอื่นไปเข้าเฝ้าเพื่อทูลเชิญให้พระพุทธองค์ไปโปรดพระวักกลิ   เมื่อพระพุทธองค์ไปพบพระวักกลิแล้ว หลังจากที่ทรงปฏิสันถารกับพระวักกลิไปชั่วขณะหนึ่งแล้ว จึงตรัสข้อความว่า

 

อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร? ดูกรวักกลิ  ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม. วักกลิเป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม.

 

จากข้อความดังกล่าวนั้น เมื่อพิจารณาบริบท (Context) ในขณะนั้น คำว่าบริบท (Context) หมายถึง สภาวะแวดล้อมที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ทางภาษาในขณะนั้น  ซึ่งหมายรวมถึง ประวัติความเป็นมา สาเหตุของเหตุการณ์ที่จะเกิดภาษานั้นขึ้น ภูมิหลังของผู้ส่งสาร [ผู้พูด/ผู้เขียน] ผู้รับสาร [ผู้อ่าน/ผู้ฟัง]

ขออธิบายเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติมว่า ในการศึกษาภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด/ภาษาเขียน นักภาษาศาสตร์จะต้องคำนึงถึงบริบท (Context) ของภาษานั้น  เพราะ ถ้าจะตัดมาวิเคราะห์แต่เฉพาะตัวข้อความ (text) โดยละเลยที่จะศึกษาถึงความเป็นมาของผู้ส่งสารผู้รับสาร  สถานการณ์ในขณะนั้น จะไม่สามารถวิเคราะห์ความหมายได้ตามความเป็นจริงเลย

ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง ดังนี้

ตัวอย่างที่ 1

เมื่อประมาณสิบกว่าปีมาแล้ว มีข่าวอื้อฉาวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า การรักษาของจิตแพทย์ท่านหนึ่ง ได้บังคับให้คนไข้ "อม" อวัยวะส่วนหนึ่งของจิตแพทย์คนดังกล่าว หลังจากที่หนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทย เสนอข่าวกันอย่างครึกโครม ก็มีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ นำไปลงข่าว โดยใช้คำศัพท์ว่า "อมนกเขา"

ปรากฏว่า กลุ่ม/สมาคมรักสัตว์ของประเทศอังกฤษ ได้ทำหนังสือมาประท้วงรัฐบาลไทยว่า ทำไมถึงให้มีการรักษาอย่างป่าเถื่อน ไม่ไปเป็นตามหลักการสมัยใหม่ คือ ให้คนไข้อมนกเขา (dove)

เรื่องนี้จะเห็นได้ว่า  กลุ่ม/สมาคมรักสัตว์ของประเทศอังกฤษไม่เข้าบริบท  (Context) ของข่าวนั้นในประเทศ จึงเข้าใจผิดไปเช่นนั้น

ตัวอย่างที่ 2

ขอให้ผู้อ่านลองสังเกตคำสนทนาดังนี้ แล้วคิดตามว่า เข้าใจหรือไม่

เสียงผู้ชาย: ขอหอมหน่อย

เสียงผู้หญิง: มีแต่ผักตบ ต้องการหรือไม่

จะเห็นได้ว่า ถ้าพิจารณาเฉพาะตัวของภาษา ผู้อ่านจะไม่เข้าใจได้เลยว่า ผู้ชายคนดังกล่าวขอจูบผู้หญิง  หรือขอต้นหอมจากผู้หญิง  ในกรณีที่ผู้ชายขอต้นหอม ทำไมผู้หญิงจึงจะเสนอผักตบให้แทน ในเมื่อเป็นอาหารที่ทดแทนกันไม่ได้   ถ้าผู้หญิงให้ผักชีแทน น่าจะสมเหตุสมผล

ดังนั้น ในการศึกษาภาษา นักภาษาศาสตร์จำเป็นจะต้องนำเอาบริบท  (Context) ของสถานการณ์ภาษาในช่วงนั้นเข้ามาร่วมในการศึกษาและวิเคราะห์ด้วย

ในกรณีของพระวักกลิ เรารู้ว่า พระวักกลิถึงแม้จะอาพาธ แต่ไม่ได้ตาบอด หลักฐานเฉพาะในภาษาช่วงนี้ก็คือ พระวักกลิต้องการที่จะเห็นพระวรกายของพระพุทธเจ้า คนตาบอดย่อมไม่มีความต้องการที่จะ "เห็น" อะไร  นอกจากนั้น พระไตรปิฎกก็ไม่เคยกล่าวว่า พระวักกลิตาบอด

ข้อความที่ว่า "อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร?" นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ช่วงนั้นพระวักกลิ "เห็น" พระวรกายของพระพุทธเจ้าด้วยตา/จักษุธรรมดาแล้ว  เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสต่อมาว่า "ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม"  คำว่า "เรา" ในพุทธพจน์ส่วนนี้ ต้อง "ไม่ใช่" พระวรกายเนื้อที่อยู่ต่อหน้าพระวักกลิขณะนั้น

เมื่อเราทราบความหมายของคำว่า "เรา" บ้างแล้ว คือ ไม่ใช่พระวรกายเนื้อของพระพุทธเจ้า ดังนั้นคำว่า "เห็นธรรม", "เห็นเรา" จะต้องใช้ตาประเภทอื่น  และการเห็นนั้น ผู้เห็นจะต้องเห็น "ธรรม" ด้วย และเห็น "พระพุทธเจ้า" ด้วย

คำว่า "เห็น" นี้  เมื่อพิจารณาถึงอายนตนภายใน 6 ชนิด คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ก็จะพบว่า เครื่องมือในการเห็นนั้นต้องไม่ใช่  หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ แน่ๆ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของอายตนะเหล่านี้  จะต้องเป็น "ตา" เป็นเครื่องมือในการเห็นแน่ๆ  และต้องไม่ใช่ ตาธรรมดาของพระวักกลิในขณะนั้นด้วย  ในเมื่อไม่ใช่ตาธรรมดาที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดแล้ว  จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า แล้ว "ตา" ซึ่งจะมาทำหน้าที่ "เห็น" ในพุทธพจน์ดังกล่าว เป็น "ตา" อะไร?  

Today, there have been 2 visitors (3 hits) on this page!
This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free