Web for Absolute Reality - ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา3
  Home
  Contact
  Guestbook
  ปราบมารจริงหรือไม่จริง1/1
  วิชชาธรรมกายกับการสะกดจิต 1
  "นิพพานเป็นอัตตา" โง่หรือแกล้งโง่?1
  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา1
  => ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา2
  => ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา3
  => ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา4
  "อนัตตา" เข้าใจกันถูกต้องดีแล้วหรือ?1
  นิพพานกับความหมายตรงตัว1

ธรรมกาย/พรหมกาย

เมื่อกล่าวเฉพาะ "ตา"  เห็นได้ว่า พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ได้มีเฉพาะตา/จักษุธรรมดาเท่านั้น แต่มีถึง 5 ประเภท ในเรื่องกายก็เช่นเดียวกัน พระองค์ได้กล่าวถึงกายอื่นๆ ไว้ในอัคคัญญสูตร ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก  ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ดังนี้

 

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ  ก็ผู้ใดแล มีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้ว แต่รากแก้วคืออริยมรรคประดิษฐานมั่นคง อันสมณพราหมณ์เทวดามารพรหมหรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลกไม่พรากไปได้ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ เกิดแต่พระโอฐของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่พระธรรมเป็นผู้ที่พระธรรมเนรมิตขึ้นเป็นผู้รับมรดกพระธรรม  ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะคำว่า ธรรมกายก็ดี ว่าพรหมกายก็ดี ว่าธรรมภูตก็ดี ว่าพรหมภูตก็ดี เป็นชื่อของตถาคตฯ

 

จากพระสูตรดังกล่าว คำว่า ธรรมกาย, พรหมกาย, ธรรมภูต หรือพรหมภูต อันเป็นชื่อของพระพุทธเจ้า  ดังนั้น คำเหล่านั้นจึงนำสรรพนามว่า "เรา" ไปแทนได้  ข้อความในพระสูตรที่ยกไปข้างต้นว่า

1) ดูกรวักกลิ  ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมเห็นพรหมกาย  ผู้ใดเห็นพรหมกาย ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมเห็นธรรม. วักกลิเป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นพรหมกาย บุคคลเห็นพรหมกายก็ย่อมเห็นธรรม.

2) ดูกรวักกลิ  ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมเห็นธรรมกาย ผู้ใดเห็นธรรมกาย ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมเห็นธรรม. วักกลิเป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นธรรมกาย บุคคลเห็นธรรมกายก็ย่อมเห็นธรรม..

จากข้อความที่ยกมาข้างต้นนั้น เมื่อพิจารณาดูสายปฏิบัติธรรมของพุทธเถรวาทในประเทศไทย จำนวน 4 สายใหญ่ๆ คือ สายพุทโธ สายยุบหนอพองหนอ สายนะมะพะทะ และสายวิชชาธรรมกาย จะพบว่ามี 2 สายเท่านั้นที่รับรองการ "เห็น" ในการปฏิบัติธรรมคือ สายนะมะพะทะ กับสายวิชชาธรรมกาย  สำหรับสายพุทโธกับสายยุบหนอพองหนอมีแนวคิดที่ว่า การเห็นในสมาธิเป็นนิมิตลวง จึงปฏิเสธการเห็นในการปฏิบัติธรรม

เมื่อพิจารณาสายปฏิบัติธรรมระหว่างสายนะมะพะทะกับสายวิชชาธรรมกายจะพบว่า สายวิชชาธรรมกายมีคำอธิบายที่ตรงกับข้อความข้างต้นมากกว่า ผู้เขียนจึงจะอธิบายการปฏิบัติธรรมของสายวิชชาธรรมกายต่อไป

 

การปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกาย

ก่อนอื่นผู้เขียนขอแก้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของสายวิชชาธรรมกายก่อน จากการที่มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งกล่าวว่า  การปฏิบัติธรรมของสายวิชชาธรรมกายเป็นเพียงสมถะเท่านั้น เป็นการเข้าใจผิด เพราะ ไม่ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับวิชชาธรรมอย่างให้ครอบคลุม  ซึ่งหนังสือเกี่ยวกับวิชชาธรรมกายก็อาจจะดูได้ในเว็บไซต์นี้ หรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

สายวิชชาธรรมกายนั้นเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา ถ้าได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับวิชชาธรรมกายอย่างครบถ้วนแล้ว ถึงจะ "รู้" และ "เข้าใจ"  หลักฐานสนับสนุนอีกประการหนึ่งก็คือ คำว่า "วิปัสสนา" นั้นแปลตามตัวอักษรว่า "เห็นแจ้ง " กล่าวคือ วิ แปลว่า แจ้ง  ปัสสนา แปลว่า เห็น  ดังนั้น สายปฏิบัติธรรมใดๆ ก็ตาม  ที่ไม่อธิบายว่า "เห็น" อย่างไร ก็ย่อมจะไม่ใช่วิปัสสนา  หรือยังไม่อธิบายไม่ถูกต้อง

หลักฐานที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่สุด คือ มหาสติปัฏฐานสูตร ในพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค ดังนี้

 

   ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ สติปัฏฐาน ๔ ประการ เป็นไฉน

   ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ ฯ

 

จะเห็นว่า ในมหาสติปัฎฐาน 4 พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เห็น" อีกเช่นเดียวกัน และการเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรมนั้น  แสดงว่า กายต้องมีการซ้อนกันอยู่   เวทนาก็ต้องมีการซ้อนกันอยู่ จิตก็ต้องมีการซ้อนกันอยู่ และธรรมก็ต้องมีการซ้อนกันอยู่ ทั้งกาย เวทนา จิต ธรรม ต้อง "เห็น" ได้  และ "เห็น" ด้วยว่า ซ้อนกันอย่างไร

มหาสติปัฎฐาน 4 นั้น  ถ้าอธิบายตามหลักภาษาศาสตร์แล้ว สายปฏิบัติธรรมที่อธิบายได้ชัดเจนที่สุดก็มีสายวิชชาธรรมกายสายเดียวเท่านั้น  โปรดไปหาอ่านหนังสือที่เขียนโดยคุณลุงการุณย์ บุญมานุชให้ครบทุกเล่ม  จะเข้าใจในประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างแน่นอน

การปฏิบัติธรรมของสายวิชชาธรรมกายนั้น  เมื่อ เห็น จำ คิด รู้ หรือใจไปหยุดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อย่างถูกส่วนแล้ว ก็จะ "เห็น" ดวงธรรม หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือดวงปฐมมรรค

เมื่อเห็นดวงธรรมแล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมต้อง "เดิน" ใจไปที่ศูนย์กลางของดวงธรรมต่อไปก็จะพบกายอีก 17 กาย รวมทั้งกายเนื้อด้วยก็เป็น 18 กาย  ดังนี้

1) กายมนุษย์หยาบ/กายเนื้อ

2) กายมนุษย์ละเอียด

3) กายทิพย์หยาบ

4) กายทิพย์ละเอียด

5) กายพรหมหยาบ

6) กายพรหมละเอียด

7) กายอรูปพรหมหยาบ

8) กายอรูปพรหมละเอียด

9) กายธรรมโคตรภูหยาบ

10) กายธรรมโคตรภูละเอียด

11) กายธรรมพระโสดาหยาบ

12) กายธรรมพระโสดาภูละเอียด

13) กายธรรมพระสกิทาคามีหยาบ

14) กายธรรมพระสกิทาคามีละเอียด

15) กายธรรมพระอนาคามีหยาบ

16) กายธรรมพระอนาคามีละเอียด

17) กายธรรมพระอรหัตหยาบ

18) กายธรรมพระอรหัตละเอียด

ขั้นตอนตั้งแต่กายมนุษย์หยาบ-กายอรูปพรหมละเอียดเป็นขั้นของสมถะ ส่วนตั้งแต่กายธรรมพระโสดาหยาบ-กายธรรมพระอรหัตละเอียดเป็นขั้นของวิปัสสนา

นอกจากดวงธรรม/ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน/ดวงปฐมมรรคแล้ว ธรรมอื่นๆ เช่น อริยสัจ 4 หรือปฏิจสมุทปบาทจะมีลักษณะเป็นดวงทั้งหมด  ซึ่งผู้อ่านจะสามารถหาอ่านได้จากหนังสือของหลวงพ่อสดที่ขยายความโดยคุณลุงการุณย์ บุญมานุชในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องได้เช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า คำสอนของสายวิชชาธรรมกายถูกต้องตรงกับพระไตรปิฎกที่สุด พระนอกจากจากจะมีข้อความที่ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" แล้ว ก็ยังมีข้อความที่ว่า "

 

อนึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้. ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรมแล. (พระไตรปิฎกเล่มที่ 12 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)

 

ซึ่งก็หมายความว่า ผู้ใดเห็นธรรมแล้ว ก็ต้องสามารถเห็นพระพุทธเจ้าได้ และต้องสามารถเห็นปฏิจจสมุปบาทได้  ซึ่งสายวิชชาธรรมกายมีคำอธิบายไว้อย่างครบถ้วนถูกต้อง

ขออธิบายเพิ่มเติมอีกว่า พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่๑๗
ขุททกนิกายขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต หรือมงคลสูตรข้อ 38 ได้กล่าวว่า "อริยสจฺจานทสฺสนํ" ซึ่งแปลว่าเห็นอริยสัจ  ซึ่งก็หมายถึงว่า อริยสัจนั้น ต้องเห็นได้    สำหรับอริยสัจจะเห็นได้อย่างไร ก็มีคำอธิบายไว้ในหนังสือที่เกี่ยวกับวิชชาธรรมกายเช่นเดียวกัน

Today, there have been 3 visitors (6 hits) on this page!
This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free